เอเซียไมเนอร์ แผ่นดินรอยต่อเชื่อมสองทวีประหว่างยุโรปและเอเซีย ใช่แล้วครับที่ ประเทศตุรกี ที่มีประวัติศาสตร์มากมาย ผ่านมาหลายยุคตั้งแต่อาณาจักรโรมันตะวันออก จนถึงยุคสุลต่านแห่งมุสลิมเรืองอำนาจ ได้ทิ้งร่องรอยและประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่น่าอัศจรรย์เอาไว้ และ โบสถ์โดมขนาดยักษ์อย่าง ฮาเกีย โซเฟีย ก็เป็นอีกหนึ่งมรดกโลกที่สำคัญเช่นกัน จะยิ่งใหญ่อลังการแค่ไหน ลองติดตามกันได้เลย…
ฮาเกีย โซเฟีย (Hagia Sophia) แห่งนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมโบสถ์ของคริสต์ศาสนิกชนตะวันตก ยุคไบเซนไทน์ (Byzantine) ทั้งนิกายออร์โธดอกซ์ และคาทอลิกกรีก และได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง ก่อนจะได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายให้เป็น 1 ใน 21 สิ่งมหัศจรรย์ยุคใหม่อีกครั้งในปี ค.ศ. 2007
คำว่า “Hagia Sophia” มีความหมายตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Holy Wisdom” หรือ “ภูมิปัญญาศักดิ์สิทธิ์” เป็นชื่อทฤษฎีในคริสตวรรษที่ 4 อุทิศแด่พระเยซูคริสต์ เดิมทีเดียวได้รับการขนานนามว่า “มหาโบสถ์” (The Great Church” เนื่องจากมีขนาดใหญ่ที่สุด เมื่อเทียบกับโบสถ์คริสต์ทั่วโลกในยุคนั้น
ประวัติความเป็นมาของ ฮาเกีย โซเฟีย น่าอัศจรรย์ไม่ด้อยไปกว่าความยิ่งใหญ่ด้านสถาปัตยกรรมเนื่องจากโบสถ์แห่งนี้ทำหน้าที่เป็นวิหารของพระราชาคณะแห่งคอนสแตนติโนเปิล เป็นโบสถ์ของนิกายไบแซนไทน์ในเวลาเดียวกัน นับเป็นเวลานานกว่า 1,000 ปี แต่เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1453 สุลต่านแห่งตุรกี บุกยึดเมืองหลวงและดัดแปลงทุกสิ่งอย่างภายในโบสถ์ แปลงเป็นสุเหร่าของมุสลิม
เดิมโบสถ์หลังแรก ก่อสร้างเมื่อปี ค.ศ. 360 โดยคอนสแตนเตียส จักรพรรดิโรมันตะวันออก แต่ถูกทำลายจากการเกิดจลาจลในปี ค.ศ. 404 จากนั้นจักรพรรดิธีโอดอเซียส ที่ 2 ได้บูรณะขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 415 และถูกทำลายจากการจลาจลอีกเช่นกันเมื่อปี ค.ศ. 532 ส่วนโบสถ์ที่คงสภาพมาจนถึงปัจจุบัน ก่อสร้างในยุคจักรพรรดิจัสติเนียน สมัยที่อาณาจักรไบแซนไทน์เรืองอำนาจและมีอิทธิพลสูงสุด ระหว่างปี ค.ศ. 532-537 มีการระดมแรงงานก่อสร้างกว่า 10,000 คน โดยมี โดมขนาดใหญ่ เป็นองค์ประกอบโดดเด่นที่สุดของโบสถ์ และเป็นต้นแบบของสถาปัตยกรรมรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีโดมอยู่ตรงกลาง ได้รับการสงวนไว้เป็นมาตรฐานของมัสยิดแถบตะวันออกกลาง และตะวันออกไกล้
มีตำนานระบุว่า เมื่อเริ่มแรกการก่อสร้าง อันเทมิอุส วิศวกรควบคุมงาน แก้ปัญหาข้อจำกัดเรขาคณิตไม่ตกว่าจะสร้างโดมทรงกลมเหนือฐานรูปสี่เหลี่ยมอย่างไร จึงคิดค้นทฤษฎีใหม่ โดยการสร้างเสาหลัก 4 ต้น ที่มุมแแต่ละด้านของฐานสี่เหลี่ยมเหนือยอดเสาขึ้นไปเป็นซุ้มประตู เติมเต็มช่องว่างระหว่างซุ้มโค้งด้วยผนังปูนรูปสามเหลี่ยมผนึกกันเป็นฐานที่แข็งแกร่งรองรับน้ำหนักของหลังคาโดม
กำเนิดของ ฮาเกีย โซเฟีย จึงถือเป็นการปฏิวัติการก่อสร้างครั้งสำคัญ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์สากลของสถาปัตยกรรมโบสถ์ ที่มีกลิ่นอายของศิลปะอาณาจักรไบแซนไทน์ ยุคที่ยังไม่มีเหล็กเกล้า การใช้เสากลมและกำแพงช่วยค้ำยันหลังคาและโดมขนาดใหญ่ เป็นทางออกที่ทำให้การก่อสร้างบรรลุเป้าหมาย โดมของโบสถ์ที่รองรับเสาค้ำยันเป็น 4 ต้น นั้นเสาแต่ละต้นวัดรอบฐานได้ประมาณ 100 ตารางเมตร ตัวโบสถ์วัดความกว้างยาวได้เท่ากับ 77 x 79 เมตร ความสูงจากพื้นดินถึงยอดโดม 62 เมตร และโดมมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 33 เมตร ขณะที่ห้องโถงกลาง กว้าง 38.07 เมตร
บริเวณฐานทรงกลมของโดม เจาะเป็นช่องหน้าต่างโค้งจำนวน 40 ช่อง แสงอาทิตย์ลอดผ่านช่องหน้าต่างให้ความสว่างแก่ห้องโถง เส้นแสงที่ตกกระทบโมเสกบนฝาผนัง บรรยายเรื่องราวความเชื่อทางศาสนา เกิดเป็นมิติภาพที่งดงาม ผนังห้องเบื้องสูงเจาะช่องหน้าต่างขนาดใหญ่รวม 12 ช่อง แบ่งเป็นแถวล่าง 7 ช่อง และแถวบน 5 ช่อง พร้อมกับเจาะช่องกลางของคานประตูบนด้านซุ้มประตูทางทิศเหนือและใต้ และช่องประตูที่ระเบียงทางเดินชั้นบนและชั้นล่างของโบสถ์ แสงแดดจึงสาดส่องให้ความสว่างแก่ห้องได้พอเพียง ภายในห้องโถง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรม ออกแบบแท่นบูชาไว้ตรงกลาง มีภาชนะขนาดเล็กไว้ใส่ของเหลว ซึ่งจารึกด้วยอักขระที่สามารถอ่านจากซ้ายไปขวาหรือขวาไปซ้าย ได้ความหมายเดียวกันว่า “จงชำระบาปของท่าน อย่าได้ชำระเพียงใบหน้า”
อิสตันบูล เดิมใช้ชื่อว่า คอนสแตนติโนเปิล ตั้งอยู่ในเขตเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวบ่อยครั้ง และแม้การก่อสร้างโบสถ์จะคาดการณ์ไว้แล้ว แต่แผ่นดินไหวรุนแรงในช่วงหลัง ทำให้โบสถ์และโดมเสียหายหลายส่วน จำเป็นต้องทำการบูรณะใหม่ รวมทั้งสร้างกำแพงขนาดใหญ่เพื่อช่วยค้ำยันส่วนกำแพงที่รองรับฐานโดมอีกแรงหนึ่ง หลายปีต่อมา ปูนปลาสเตอร์ที่ชาวมุสลิมฉาบทับรูปภาพจารึกทางศาสนาคริสต์ไว้เริ่มกะเทาะออก เปิดเผยแก่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกว่า แท้จริงแล้วสุเหร่าแห่งอิสตันบูลแห่งนี้ เดิมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคริสต์ศาสนา
ฮาเกีย โซเฟีย นอกจากเป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมโบสถ์ของคริสต์ศาสนิกชนตะวันออก ในยุคไบแซนไทน์แล้ว ยังขยายอิทธิพลไปถึงชนเผ่าสลาฟในดินแดนตะวันออก ซึ่งรับเอารูปแบบสถาปัตยกรรมนี้ไปดัดแปลงตามที่เห็นว่างดงาม แม้แต่รัสเซียก็ได้รับอิทธิพลดังกล่าวด้วย โดยดัดแปลงโดมเป็นรูปทรงปลายแคบ ดังปรากฏในโบสถ์หลายแห่งทั่วรัสเซีย ส่วนในยุคไบแซนไทน์รุ่งเรือง ฮาเกีย โซเฟีย เป็นโบสถ์หลวงมีนักบุญและเจ้าหน้าโบสถ์อาศัยอยู่กว่า 500 คน และเป็นสถานที่สำคัญด้านการประกอบพิธีทางศาสนา
ปัจจุบัน โบสถ์ทรงโดมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ ยังคงความสำคัญในฐานะอนุสรณ์สถาน ที่สะท้อนถึงแรงศรัทธาในศาสนาของชาวคริสต์และอิสลาม และเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของตุรกี
ข้อมูลจาก : http://travel.mthai.com/
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น