หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดเชียงใหม่

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ดอยอินทนนท์
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ แต่ เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” ดอยหลวง หมายถึงภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินทนนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า ดอยอ่างกา

ดอยอินทนนท์ นี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยซึ่งพาดผ่านจากประเทศ เนปาล ภูฐาน พม่า และมาสิ้นสุดที่นี่ สิ่งที่น่าสนใจของดอยนี้ไม่เพียงแต่เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศด้วยความ สูง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางเท่านั้น แต่สภาพภูมิประเทศและสภาพป่าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบ ป่าสน ป่าเบญจพรรณ และอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในฤดูหนาวจะมีหมอกปกคลุมเกือบทั้งวัน และบางครั้งน้ำค้างยังกลายเป็นน้ำค้างแข็ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้มีผู้มาเยือนที่นี่อย่างไม่ขาดสายการเดินทาง ระยะทางจากตัวเมืองขึ้นไปจนถึง ยอดดอยอินทนนท์ประมาณ 106 กิโลเมตร ออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปตามทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่-จอมทอง ถึงหลักกิโลเมตรที่ 57 ก่อนถึงอำเภอจอมทอง 1 กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 สายจอมทอง-อินทนนท์ ระยะทาง 48 กิโลเมตรถึงยอดดอยอินทนนท์ เป็นถนนลาดยางอย่างดีแต่ทางค่อนข้างสูงชัน รถที่นำขึ้นไปจะต้องมีสภาพดี ผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวสามารถนั่งรถสองแถวสายเชียงใหม่-จอมทองบริเวณประตู เชียงใหม่ จากนั้นขึ้นรถสองแถวที่หน้าวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารหรือที่น้ำตกแม่กลาง ซึ่งจะเป็นรถโดยสารประจำทางไปจนถึงที่ทำการอุทยานฯตรงหลักกิโลเมตรที่ 31 และหมู่บ้านใกล้เคียง แต่หากต้องการจะไปยังจุดต่าง ๆ  ต้องเหมาไปคันละประมาณ 800 บาท
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตั้งอยู่บริเวณ กิโลเมตรที่ 9 ของเส้นทางหมายเลข 1009 มีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำ และมีนิทรรศการเกี่ยวกับธรรมชาติ สัตว์ป่า และอื่น ๆ บริเวณที่ทำการมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม สำรองที่พักล่วงหน้าอย่างน้อย 1 อาทิตย์ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ โทร. 0 2562 0760 หรือ เว็บไซต์ www.dnp.go.th  อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ โทร. 0 5335 5728, 0 5331 1608, เว็บไซต์ www.doiinthanon.com
ดอยม่อนจอง
ดอยม่อนจอง
ดอยม่อนจอง อยู่ในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอมก๋อย อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่่ จากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 แล้วแยกซ้ายจาก อ.ฮอด เข้าทางหลวงหมายเลข 1099 ไปจนถึงตัว อ.อมก๋อย และตรงต่อไปตามทางหลวง 1099 ประมาณ 40 กิโลเมตร จะพบกับศูนย์รักษาพันธ์สัตว์ป่า หน่วยมูเซอ จากจุดนี้ต้องขออนุญาติเจ้าหน้าที่ ติดต่อไกด์นำทางรวมถึงลูกหาบเพื่อที่จะนำสัมพาระ อาหาร น้ำดื่มน้ำใช้ อย่างต่ำ 3 วัน 2 คืน ถึงจะมีเวลาพอที่จะเดินชมธรรมชาติแบบไม่ต้องเร่งรีบ และไม่เหนื่อยไปเสียก่อน จุดที่น่าสนใจของดอยม่อนจองคือ เป็นดอยที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,929 กม. สันดอยที่มีลักษณะแปลกๆ ราวกับว่าเป็นกำแพงจีน (เมืองไทย) กับทุ่งหญ้าสีทองยามแสงแดดส่อง กุหลาบพันปีที่โด่งดัง โชคดีจะได้เห็นกวางผา หรือเรียกม้าเทวดาในถิ่นนี้ด้วย อีกหลายอย่างระหว่างทางจะได้พบเห็นนกหลายชนิดและดอกไม้ป่านานาพันธ์
การเดินเท้า ระยะทางประมาณ 4 กิโล ทั้งป่าทึบ ป่าโปร่ง สันเขาลาดชัน ควรเริ่มต้นตั้งแต่เช้าเพราะจะใช้เวลาเดิน 3-6 ชั่วโมงแล้วแต่ว่าจะเดินสบายๆหรือแข่งเอาโล่ จนกว่าจะถึงจุดพัก ซึ่งบางครั้งก็ต้องใช้ดวงในการหาพื้นที่ที่ถูกใจในการกางเต้นท์ ใต้ดงป่าใม้เชิงดอย ปลอดจากลมหนาวที่พัดกระหน่ำหนาวบนสันดอย ความสวยงามหลังจากข้ามคืนแรกในความเหน็บหนาวก็จะมาถึงครับ ช่วงเวลา ที่สามารถท่องเที่ยวได้ จะเริ่มแค่ต้นเดือน พ.ย. จนถึงประมาณกลางเดือน ก.พ. เท่านั้น เพราะอะไรไม่บอกครับ ต้องลองไปถามเจ้าหน้าที่เหรือคนนำทางเอง จะได้ตื่นเต้น ^^ สิ่งที่ต้องเตรียมในการเดินป่า พักบนดอยอันเหน็บหนาว คงจะพอทราบกันนะครับ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงาน ททท. ภาคเหนือ เขต1 โทร. 0-5324-8604, 0-5324-8607, 0-5324-1466 
ดอยฟ้าห่มปก
ดอยฟ้าห่มปก เชียงใหม่
ดอยฟ้าห่มปก หรือ ชื่อเดิม ดอยผ้าห่มปก ตั้งอยู่ที่อุทยานดอยฟ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ สูงจากระดับน้ำทะเล 2,285 เมตร เป็นดอยที่มีความสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี มีเมฆหมอกปกคลุมบริเวณยอดดอย มีนกและผีเสื้อที่น่าสนใจ อุทยานแห่งชาติจะทำการปิดบริเวณยอด ดอยผ้าห่มปก ระหว่างวัน 1 กรกฎาคม – 30 กันยายนของทุกปี
น้ำพุร้อนสันกำแพง
น้ำพุร้อนสันกำแพง
น้ำพุร้อนสันกำแพง ได้รับการปรับปรุง และดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสหกรณ์การเกษตรหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง จำกัด เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ ล้อมรอบไปด้วยภูเขา มีดอกไม้นานาพันธุ์และน้ำพุร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่า 100 องศาเซลเซียส ตั้งอยู่ในเขต ต. บ้านสหกรณ์ กิ่งอ. แม่ออน อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 36 กิโลเมตร สามารถไปได้ 2 ทางด้วยกัน คือ เส้นทางเชียงใหม่ ? สันกำแพง ? สถานีเพาะพันธุ์กล้าไม้สัก ? น้ำพุร้อน (เส้นทางนี้จะผ่านถ้ำเมืองคอน ซึ่งอยู่ห่างจากน้ำพุร้อน 4 กิโลเมตร) หรือเส้นทางเชียงใหม่ ? สันกำแพง ? หมู่บ้านออนหลวย – น้ำพุร้อน หากเดินทางโดยรถประจำทางขึ้นรถสายดอยสะเก็ด ? น้ำพุร้อนสันกำแพง จากตลาดวโรรสด้านทิศเหนือติดแม่น้ำปิงไปยังสันกำแพง และเช่าเหมารถสองแถวจากสันกำแพงไปน้ำพุร้อนในราคาประมาณ 200 บาทต่อคัน สำรองที่พักล่วงหน้าที่ ธุรกิจน้ำพุร้อนสันกำแพงหมู่บ้านสหกรณ์ โทร. 0 5392 9077 และรุ่งอรุณรีสอร์ท โทร. 0 5393 9128 ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 15 บาท เด็ก 5 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท เปิดเวลา 9.30-20.00 น.
สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ทางลาด  บ่อน้ำพุร้อนสาธารณะไม่มีพื้นต่างระดับ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้เลย ป้ายสัญลักษณ์  ในโครงการที่จัดไว้เป็นป้ายห้องส้วมสาธารณะ ห้องส้วม  มีห้องส้วมเฉพาะสำหรับคนพิการ 2 ห้องแยกเพศชายหญิง
อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา
ดอยเวียงผา
อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา มีน้ำตกให้เที่ยวหลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่เส้นทางยังไม่สะดวกนัก เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างพัฒนาพื้นที่ น้ำตกที่เดินทางเข้าถึงสะดวกที่สุดคือ น้ำตกห้วยทรายขาว ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีแอ่งน้ำให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำได้แต่ในช่วงฤดูแล้งน้ำจะน้อยมาก จะมีน้ำเยอะช่วงเดือนพฤษภาคมแต่น้ำจะขุ่น น้ำจะใสช่วงหลังฝน ชั้นบนของน้ำตกเป็นแอ่งน้ำและมีทรายอยู่เนื่องจากน้ำพัดเอาทรายมาจากการกัด กร่อนของหินทราย ชั้นบน อากาศบริเวณน้ำตกชื้นจนทำให้มีมอสจับอยู่
แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆในอุทยานฯ ได้แก่ น้ำตกแม่ฝางหลวง น้ำตกดอยเวียงผา น้ำตกห้วยหาน และจุดชมวิวดอยเวียงผา อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผามีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 583 ตารางกิโลเมตร สภาพป่าในพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ นอกจากนี้ยังมีป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าสนเขา นกที่พบ เช่น นกกินปลี และนกพญาไฟ สัตว์ป่าที่พบส่วนใหญ่จะเป็นขนาดกลางและสัตว์ขนาดเล็ก ได้แก่ กระรอก กระต่าย หมูป่า อีเห็น เก้ง เลียงผา เสือไฟ เม่น หมีควาย เป็นต้น
ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก อุทยานมีบริการบ้านพัก 2 หลัง โดยติดต่อที่อุทยานโดยตรง
การเดินทาง จากเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ไปประมาณ 125 กิโลเมตร อยู่ก่อนถึงตัวเมืองไชยปราการประมาณ 2 กิโลเมตร ให้สังเกต โรงเรียนศรีดงเย็นทางด้านซ้ายมือ ทางเข้าอุทยานอยู่ฝั่งตรงข้าม (ด้านขวามือ) เข้าไปประมาณ 12 กิโลเมตร
 อุทยานแห่งชาติออบหลวง
ออบหลวง
ออบหลวง เป็นสถานที่น่าเที่ยวที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ความสวยงามและน่ากลัวไว้ใน จุดเดียวกัน กล่าวคือ เบื้องล่างเป็นแม่น้ำที่ไหลคดเคี้ยวผ่านช่องเขาขาดตรงออบหลวง ช่องเขานี้มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันและแคบมาก บีบทางน้ำไหล ดังนั้น แม่น้ำตรงนี้จึงเชี่ยวจัด เสียงน้ำกระทบหน้าผาดังสนั่น รอบๆ บริเวณชายน้ำด้านเหนืองดงามไปด้วยหมู่ไม้น้อยใหญ่ ร่มรื่นอยู่ตลอดเวลาชั่วนาตาปี นอกจากนี้ยังมีสะพานเชื่อมช่องเขาขาดสำหรับนักท่องเที่ยวยืนชมความงดงามของ ทัศนียภาพออบหลวง และภายในบริเวณอุทยานฯ มีการขุดค้นพบแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วย เช่น หลุมฝังศพของมนุษย์โบราณ และภาพเขียนสีขาวที่บริเวณเพิงผาช้าง และยังมีกิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ล่องแก่งเรือยางหรือ ล่องคายัคในลำน้ำแจ่ม
การเดินทาง รถยนต์ส่วนตัว -จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข108 สายเชียงใหม่-ฮอด-แม่สะเรียง เมื่อถึงอำเภอฮอดให้เลี้ยวขวาบริเวณวงเวียนไปตามถนนหมายเลข 108 ไปอีกประมาณ 17 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 105 กิโลเมตร สภาพทางลาดยางตลอด และช่วงระหว่างฮอดจนถึงออบหลวงนั้น ถนนจะเลียบขนานไปกับแม่น้ำแม่แจ่มหรือแม่น้ำสลักหิน และวกไปเวียนมาตามไหล่เขา รถโดยสารประจำทาง -ใช้รถโดยสารประจำทางได้หลายสายเช่น เชียงใหม่-ฮอด-อมก๋อย หรือ กรุงเทพฯ-จอมทอง หรือ กรุงเทพฯ-แม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน จากนั้นต่อรถสองแถวที่หน้าอำเภอฮอดอีก 17 กิโลเมตร หรือนั่งรถสายเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน  ซึ่งจะผ่านที่ทำการอุทยานแห่งชาติออบหลวง  บริเวณท่ารถตรงวงเวียนฮอด-แม่สะเรียง จะมีรถวิ่งทั้งหมด 3 เส้นทาง คือ ฮอด ? แม่สะเรียง ฮอด-แม่แจ่ม ฮอด-อมก๋อย ซึ่งจะผ่านออบหลวงทั้งสามสาย
ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติออบหลวง คนไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก ทางอุทยานฯมีบริการบ้านพัก สถานที่กางเต็นท์ และมีเต็นท์ให้เช่าพร้อมเครื่องนอนในอัตราคืนละ 50 บาท ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่อุทยานฯ โทร. 0 5322 9272 หรือสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือสำรองที่พักด้วยตนเองที่http://www.dnp.go.th
ข้อมูลจาก : http://travel.mthai.com/

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น